พรหมวิหาร๔
อัปมัญญา ๔ - พรหมวิหาร ๔
อัปมัญญา หมายความว่า ธรรมที่เป็นไปในสัตว์ทั้งหลาย
หาประมาณมิได้ ไม่มีจำกัด …
ผู้เจริญอัปมัญญา ๔ อย่างใดอย่างหนึ่ง
อยู่นั้น จะต้องมีการแผ่ตลอดทั่วไปในสัตว์ทั้งหลายโดยไม่มีจำกัด
จึงจะเรียกว่าเป็นการแผ่เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ที่เป็นอัปมัญญา …
สำหรับการแผ่เมตตา ฯลฯ โดยจำกัดบุคคลและจำกัดสถานที่
ไม่จัดว่าเป็นการเจริญอัปปมัญญากรรมฐาน …
เป็นแต่เพียงการแผ่
อย่างธรรมดา อย่างไรก็ตาม การแผ่ที่มีการจำกัดบุคคลและสถานที่นี้
ก็ยังได้รับอานิสงส์อย่างไพศาล คือ ในภพนี้ก็จะช่วยให้พ้นจากภัยต่างๆ
ในภพหน้าก็ช่วยให้เกิดเป็นมนุษย์และเทวดา
อัปมัญญา ๔ ที่ได้ชื่อว่า พรหมวิหาร นั้น เพราะว่า
บุคคลใดกำลังดำเนินการปฏิบัติในอัปมัญญาอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่
บุคคลนั้นย่อมมีจิตใจเสมือนพรหม …
หรืออีกนัยหนึ่ง คำว่า 'พรหม' แปลว่า ผู้ประเสริฐ 'วิหาร' แปลว่า
ความเป็นอยู่ที่เข้าถึงอย่างประเสริฐด้วยอัปมัญญา ๔
เมื่อรวมแล้ว ความเป็นอยู่ที่เข้าถึงอย่างประเสริฐของบุคคลผู้ประเสริฐ
ชื่อว่า พรหมวิหาร …
เมตตา
เมตตา หมายความว่า การปรารถนาดีรักใคร่ต่อสัตว์ทั้งหลาย
เมตตาคือความไม่โกรธ (อโทสะ)
การนึกถึงและมองดูคนอื่นด้วยโทสะ ในขณะนั้นย่อมมีแต่ความเกลียดชัง
จิตใจไม่ชื่นบาน ส่วนการนึกถึงและมองดูบุคคลอื่นด้วยเมตตานั้น จิตใจก็จะ
มีแต่ความรักใคร่เบิกบาน …
ความรักใคร่ชื่นชมนี้ มี ๒ อย่าง คือ (๑) เมตตาอโทสะ
(๒) ตัณหาเปมะ ใน ๒ อย่างนี้
เมตตาอโทสะ
เป็นความ
รักใคร่ชื่นชมปรารถนาดี ไม่มีการยึดถือว่าเป็น บิดา มารดา บุตร
ธิดา ภรรยา สามี ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง แต่อย่างใด ถึงจะจากไป
อยู่ที่อื่นก็ไม่เดือดร้อน
ตัณหาเปมะ
เป็นความรักใคร่ชื่นชม
ด้วยการยึดถือว่าเป็น บิดา มารดา บุตร ธิดา ภรรยา สามี
ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงและแยกจากกันไม่ได้ ดังนั้นความรักใคร่ชื่นชม
ชนิดที่เป็นชนิดตัณหาเปมะนี้ จึงได้ชื่อว่า เป็นเมตตาเทียม เพราะยัง
มีโลภะอยู่ด้วย
ถึงกระนั้น ตัณหาเปมะ อันเป็นตัวเมตตาเทียมนี้ ก็ยังเป็นความดี
เพราะหากเจริญเป็นปกติอยู่เนืองๆ ก็สามารถยังให้เมตตาอโทสะ
เกิดขึ้นได้ง่าย และดำรงมั่นไม่เสื่อมถอย …
ฝ่ายผู้ที่แสวงหา
โลกุตตรธรรม (= การสิ้นกิเลส การพ้นทุกข์ คือ
พระนิพพาน) นั้น ถ้าจิตใจยังประกอบด้วยตัณหาเปมะ
ต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง โลกุตตรธรรมก็เกิดขึ้นไม่ได้ ทั้งนี้เพราะ
ตัณหาเปมะนี้ ขัดกันกับสมาธิตลอดจนถึงสติสัมปชัญญะ ดังเช่น
พระฉันนเถระ มีความรักในพระพุทธองค์อย่างเหนียวแน่น
เนื่องจากเคยอยู่ใกล้ชิด จึงถึงออกสู่มหาภิเนษกรมณ์ ดังนั้น
ในระหว่างที่พระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ พระภิกษุฉันนะ
มิอาจปฏิบัติให้มรรค ผล เกิดได้ ต่อเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว
การปฏิบัติจึงสำเร็จ ทั้งนี้ก็เพราะตัณหาเปมะที่ขัดกับสมาธิ
สติสัมปชัญญะ ได้หายไปจากใจหมดสิ้น
การแผ่เมตตา ควรจะต้องแผ่แก่ตนเองก่อน เพื่อประโยชน์อันที่จะ
ได้เป็นสักขีพยานแก่การแผ่ไปยังบุคคลอื่น ทั้งนี้ก็เพราะว่า
ความรักต่อสิ่งอื่นๆ นั้น จะมีมากมายสักเพียงใดก็ตาม ก็ไม่เหมือน
"ความรักตนเอง"
(น จ อตฺต สมํ เปมํ) ดังนั้น เมื่อแผ่แก่ตนก่อน
อยู่เสมอๆ แล้ว ความปรารถนาสุข กลัวทุกข์ อยากมีอายุยืน
ไม่อยากตาย ที่มีประจำใจอยู่นั้น ย่อมเกิดขึ้นเป็นพิเศษ
แล้วนึกเปรียบเทียบไปในสัตว์ทั้งหลายว่า ล้วนแต่มีความ
ปรารถนาเช่นเดียวกับตนทุกประการ การนึกเปรียบเทียบระหว่าง
ตนกับผู้อื่นอย่างนี้แหละ เป็นเหตุสำคัญที่จะช่วยให้เมตตาจิต
เกิดขึ้นได้ง่าย และตั้งอยู่มั่นคง …
พระพุทธองค์ก็ได้ทรงเทศนาไว้ว่า
สพฺพา ทิสา อนุปริคมฺม เจตสา
เนวชฺฌคา ปิยตรมตฺตนา กฺวจิ
เอวํ ปิโย ปุถุ อตฺตา ปเรสํ
ตสฺมา น หึเส ปรํ อตฺถกาโม-ติ ฯ
แปลความว่า
บุคคลเอาจิตใจค้นคว้าพิจารณาไปทั่วทิศ
ย่อมไม่เห็นใครเป็นที่รักยิ่งกว่าตน
ในที่ใดๆ ก็ตาม ตนนั้นแหละเป็นที่รักอย่างมาก
คนอื่นก็เช่นกัน ฉะนั้น ผู้ที่รักตนไม่ควรเบียดเบียน
ผู้อื่นแม้กระทั่งมด ปลวก
อานิสงส์ที่ได้รับจากการแผ่เมตตา
นอนหลับสบายคล้ายเข้าสมาบัติ -
เมื่อตื่นก็สบายคล้ายกับออกจากสมาบัติ -
ไม่ฝันเห็นสิ่งที่ชั่ว และ เรื่องที่น่าเกลียดน่ากลัว
ฝันเห็นแต่สิ่งที่ดีที่น่าปลื้มใจ -
เป็นที่รักของคนทั้งหลาย -
เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย มี เทวดา เป็นต้น -
เทวดาย่อมรักษา -
ไฟหรือยาพิษหรือศาสตราวธต่างๆทำร้ายไม่ได้ -
มีจิตใจสงบได้เร็ว -
มีหน้าตาผ่องใส -
เมื่อเวลาตายจิตใจไม่ฟั่นเฟือน -
แม้ว่ายังไม่ได้บรรลุมรรคผลอันประเสริฐในภพนี้ก็ตาม
ถ้าได้รูปฌานก็จักไปบังเกิดในพรหมโลก
เมตตากรรมฐาน มีความเป็นไปแห่งกาย วาจา ใจ
ในอันที่จะอำนวยประโยชน์ให้แก่สัตว์ทั้งหลาย เป็นลักษณะ -
มีการนำประโยชน์ให้แก่สัตว์ทั้งหลาย อย่างใกล้ชิด เป็นกิจ -
มีการบำบัดความแค้นเป็นอาการปรากฏแก่ผู้ที่ทำการพิจารณาเมตตา -
มีการพิจารณาแต่ความดีที่น่าพึงพอใจของสัตว์ทั้งหลาย
โดยไม่มีการนึกถึงสิ่งที่ไม่ดีไม่งามเป็นเหตุใกล้ -
การสงบความพยาบาทลงได้เป็นเวลานานเป็นความสมบูรณ์ของเมตตา -
และการเกิดขึ้นแห่งตัณหาที่เหนียวแน่น เป็นความเสียหายแห่งเมตตา -
ราคะ เป็นข้าศึกใกล้ของเมตตา -
พยาบาท เป็นข้าศึกไกลของเมตตา