พรหมวิหาร๔
กรุณา
กรุณา หมายความว่า เมื่อเห็นสัตว์ทั้งหลายได้รับ
ความลำบาก จิตใจของสัปบุรุษ
(สัปบุรุษ - สัตบุรุษ คือ คนสงบ คนดี คนมีศีลธรรม
คนที่ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม - พจนานุกรมพุทธศาสน์)
ก็เกิดความหวั่นไหว นิ่งดูอยู่ไม่ได้ หรืออีกนัยหนึ่ง
หมายความว่า ย่อมช่วยผู้ที่ได้รับความลำบากนั้นให้ได้รับความสุข
ดังแสดงไว้ว่า
ปรทุกฺเข สติ สาธูนํ หทยกมฺปนํ กโรตีตี
กรุณา ธรรมชาติใดย่อมทำให้จิตใจของสัปบุรุษทั้งหลาย หวั่นไหว
อยู่นิ่งไม่ได้ เมื่อผู้อื่นได้รับความลำบาก ฉะนั้น ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า กรุณา
กิณาติ ปรทุกฺขํ หึสติ วินาเสตีติ
กรุณาธรรมชาติใดย่อมเบียดเบียนทำลายความลำบากของผู้อื่นเสีย
ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่า กรุณา
กรุณา เมื่อว่าโดยสามัญแล้ว
มี ๒ อย่าง คือ
กรุณาแท้ และกรุณาเทียม
กรุณาแท้
แม้ว่าจะมีความสงสารต่อสัตว์ที่ได้รับความลำบากอยู่ หรือ จะได้รับความลำบากต่อไป
ในข้างหน้าก็ดี ทำการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความลำบากอยู่
ด้วยประการใดๆ ก็ดี ความเศร้าโศก เดือดร้อน ขุ่นหมองใจไม่มี
มีแต่ความแช่มชื่นผ่องใส ซึ่งเป็นมหากุศล … ที่เนื่องมาจาก
กรุณาเจตสิก (ธรรมชาติที่มีความสงสารต่อทุกขิตสัตว์ คือ
ผู้ที่กำลังได้รับความลำบากอยู่ หรือ จะได้รับความลำบาก
ในกาลข้างหน้า) อันเป็นกรุณาอัปปมัญญาแท้
กรุณาเทียม
เมื่อมีความสงสารต่อสัตว์ที่ได้รับความ
ลำบากอยู่ หรือจะได้รับความลำบากต่อไปในข้างหน้าก็ดี
ช่วยเหลือผู้ที่กำลังได้รับความลำบากอยู่ก็ดี กลับมีความ
เศร้าโศก เดือดร้อน ขุ่นมัว อยู่ด้วย
อานิสงส์ของกรุณา
ก็เป็นเช่นเดียวกับเมตตากรุณา มีลักษณะที่ กาย วาจา ใจ
เป็นไปในอันที่จะบำบัดทุกข์ของผู้อื่นให้ปราศจากไป -
มีการอดกลั้นนิ่งดูดายอยู่ไม่ได้ต่อทุกข์
ของผู้อื่นและอยากช่วย -
มีการไม่เบียดเบียนผู้อื่น เป็นอาการ
ปรากฏแก่ผู้ที่ทำการพิจารณากรุณา -
มีการพิจารณาเห็น
บุคคลที่ตกอยู่ในความทุกข์ไร้ที่พึ่ง เป็นเหตุใกล้ -
มีความสงบลง
แห่งโทสะในอันที่จะเบียดเบียนสัตว์ เป็นความสมบูรณ์แห่ง
กรุณา -
และการเกิดขึ้นแห่งความเศร้าโศก เป็นความเสียหาย
แก่กรุณา -
ความเสียใจที่เนื่องด้วยกามคุณอารมณ์ เป็น
ศัตรูใกล้ของกรุณา -
มีความเบียดเบียนสัตว์เป็นศัตรูไกล
ของกรุณา