พรหมวิหาร๔
อุเบกขา
อุเบกขา หมายความว่า ความวางเฉยต่อสัตว์ทั้งหลาย
โดยมีจิตใจที่ปราศจากอาการทั้ง ๓ กล่าวคือ ไม่น้อมไปในความ
ปรารถนาดี ในการที่จะบำบัดทุกข์ ในการชื่นชมยินดี ในความสุข
ของสัตว์แต่อย่างใดทั้งสิ้น …
พิจารณาในสัตว์ทั้งหลายพอประมาณ
ด้วยการที่ไม่รักไม่ชัง คือ สละความวุ่นวายที่เนื่องด้วยเมตตา กรุณา
มุทิตา … และมีสภาพเข้าถึงความเป็นกลาง
การวางเฉยต่อสัตว์ทั้งหลายนั้น มีอยู่ด้วยกัน ๒ อย่าง คือ
เป็นไปด้วยอำนาจแห่ง
อุเบกขาแท้
(ความเป็นกลางในอารมณ์นั้นๆ / ภาวะที่จิตและเจตสิกตั้งอยู่ในความเป็นกลาง)
ส่วนที่เป็นไปด้วยอำนาจโมหะนั้น
เมื่อได้ประสบกับสิ่งที่น่ารัก ก็ไม่รู้จักรัก
น่าขวนขวายอยากได้ก็ไม่มีการขวนขวายอยากได้
น่าเคารพเลื่อมใสก็ไม่รู้จักทำการเคารพเลื่อมใส
น่ากลัวน่าเกลียดก็ไม่รู้จักกลัวจักเกลียด
ควรสนับสนุนส่งเสริม ก็ไม่รู้จักสนับสนุนส่งเสริม
ควรแก้ไขปรับปรุงให้ดีให้สมบูรณ์ในการงานทั้งปวงก็นิ่งเฉยเสีย นี้เป็น
อุเบกขาเทียม
อุเบกขาพรหมวิหาร - อุเบกขาบารมี
ในสองอย่างนี้ แม้ว่าจะมีการวางเฉยต่อสัตว์ด้วยกันก็จริง
แต่อารมณ์ที่จะให้เกิดความวางเฉยนี้ต่างกันคือ
อุเบกขาพรหมวิหาร
มีการวางเฉยต่อสัตว์ คือ
ละความวุ่นวายที่เนื่องด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา มีสภาพ
เข้าถึงความเป็นกลางในสัตว์ทั้งหลาย
อุเบกขาบารมี
นั้น เป็นการวางเฉยในบุคคล
ที่กระทำดีและไม่ดีต่อตน โดยไม่มีการยินดียินร้าย
แต่ประการใด คือ ผู้ที่กระทำความดี มีความเคารพนับถือ
บูชาสักการะ เกื้อกูล อนุเคราะห์ สงเคราะห์ เป็นประโยชน์
แก่ตนสักเท่าใดๆ ก็คงมีจิตใจวางเฉยอยู่
และผู้ที่กระทำความไม่ดี มีการประทุษร้ายต่อตนสักเพียงใดก็ตาม
ก็คงวางเฉยอยู่ได้เช่นกัน
ในการวางเฉยทั้ง ๒ อย่างนี้
ฝ่ายบารมีประเสริฐยิ่ง การบำเพ็ญก็สำเร็จได้ยาก
๑.
เมตฺตาทโย โอฬาริกา สตฺตเกลายเนน จ
ยุตฺตา สมีปจาริกา ปฏิฆานุนยานํ จ ฯ
๒.
อุเปกฺขา ตุ สนฺตภาวา สุขุมปณีตา ปิ จ
กิเลเสหิ จ วิทูรา สเวปุลฺลผลา ตถา ฯ
แปลความว่า
(๑)
เมตตา กรุณา มุทิตา ทั้ง ๓ นี้มีสภาพหยาบ เพราะยังประกอบ
ด้วยโสมนัสเวทนา และยังมีความยินดีรักใคร่ในสัตว์ ทั้งยัง
ประพฤติเป็นไปใกล้ต่อความเกลียดและความรัก
(๒)
สำหรับอุเบกขานั้น มีสภาพสงบ สุขุม ประณีต ห่างไกล
จากกิเลสด้วย มีผลไพบูลย์ดีงามมากด้วย
อานิสงส์ของอุเบกขา ก็เป็นเช่นเดียวกับเมตตา
อุเบกขา มีลักษณะ คือ มีอาการเป็นไปอย่างกลางในสัตว์ทั้งหลาย -
มีการมองดูในสัตว์ทั้งหลายด้วยความเสมอกันเป็นกิจ -
มีการสงบความเกลียดและไม่มีความรักในสัตว์ทั้งหลายเป็นอาการปรากฏแก่ผู้ทำการพิจารณาอุเบกขา -
เหตุใกล้ของอุเบกขา คือ ปัญญาที่พิจารณาเห็นการกระทำของตนเป็นของตนเอง เป็นไปอย่างนี้ว่า
"สัตว์ทั้งหลายมีการกระทำของตนเป็นของตนเอง สัตว์ทั้งหลายเหล่านี้จะมีความสุข หรือ พ้นจากทุกข์หรือ จักไม่เสื่อมจากทรัพย์สมบัติของตนที่มีอยู่เหล่านี้ด้วยความประสงค์ของผู้ใดผู้หนึ่งนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้เลย" -
มีความสงบความเกลียดและไม่มีความรัก เป็นความสมบูรณ์แห่งอุเบกขา -
มีการเกิดขึ้นแห่ง อญาณุเปกขาโดยอาศัยกามคุณอารมณ์ เป็นความเสียหายแห่งอุเบกขา -
การวางเฉยด้วยอำนาจโมหะ (อวิชชา - ความไม่รู้ตามความเป็นจริง)
เป็นศัตรูใกล้ของอุเบกขา - ราคะและโทสะ เป็นศัตรูไกลของอุเบกขา
เหตุที่อัปมัญญามีเพียง ๔
การที่อัปมัญญามีเพียง ๔ นั้น
เพราะเหตุที่จะทำให้จิตใจบริสุทธิ์จาก
พยาบาท วิหิงสา อรติ ราคะ ที่มีอยู่ในสันดานของ
สัตว์ทั้งหลายนั้นมีอยู่เพียง ๔
และการใฝ่ใจของสัตว์ทั้งหลาย
ที่มีต่อกันนั้น ก็มีเพียง ๔ เช่นกัน
ดังนั้น อัปปมัญญา จึงมี
เพียง ๔
เหตุทีทำให้จิตใจบริสุทธิ์ ๔ อย่างนั้นก็ได้แก่
เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา นี้เอง
เพราะธรรมดาจิตใจของสัตว์ทั้งหลายนั้น ย่อมหมกมุ่นเกี่ยวพันอยู่ด้วยเรื่อง
พยาบาท วิหิงสา (การเบียดเบียน การทำร้าย)
อรติ (ความขึ้งเคียด ความไม่ยินดีด้วย ความริษยา)
ราคะ
อย่างใดอย่างหนึ่งเสมอไป
ต่างกันก็แต่เพียงบางอย่างมาก บางอย่างน้อย ซึ่งเป็นไปตาม
กาลเวลาเท่านั้น
ดังนั้น ผู้ที่มีพยาบาทมาก จึงต้องปราบด้วย เมตตา
จิตใจจึงจะสงบลง และเข้าถึงความบริสุทธิ์ผ่องใสได้
ส่วนผู้ที่มีวิหิงสามาก ต้องปราบด้วย กรุณา
ผู้มีอรติมากต้องปราบด้วย มุทิตา
และผู้ที่มีราคะมาก ต้องปราบด้วย อุเบกขา
จิตใจจึงจะสงบและเข้าถึงความบริสุทธิ์ผ่องใสได้
อนึ่ง การใฝ่ใจของสัตว์ทั้งหลายที่มีต่อกัน ๔ อย่างนั้นคือ
นำประโยชน์ให้แก่สัตว์ทั้งหลาย ซึ่งเป็นตัวเมตตาอย่างหนึ่ง
บำบัดปัดป้องสิ่งที่ไร้ประโยชน์ให้แก่สัตว์ทั้งหลาย ซึ่งเป็น
ตัวกรุณา อย่างหนึ่ง
วางเฉยในเรื่องจะนำประโยชน์ ในเรื่อง
บำบัดปัดป้องสิ่งที่ไร้ประโยชน์ ในเรื่องยินดีในความสุขสบาย
ทรัพย์สินเงินทอง ของสัตว์ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นตัวอุเบกขา อย่างหนึ่ง
เปรียบเหมือนมารดาที่มีบุตรอยู่ ๔ คน
คนหนึ่งยังเล็กอยู่
คนหนึ่งเจ็บไข้ไม่สบาย
คนหนึ่งโตแล้ว
คนหนึ่งประกอบการงาน
เลี้ยงตนเองได้แล้ว ใน ๔ คนนี้ มารดาย่อมมีจิตใจฝักใฝ่รักใคร่
บำรุงเลี้ยงดูเพื่อการเจริญวัยในบุตรคนเล็ก อนึ่ง มารดาย่อม
ฝักใฝ่ในการบำบัดความเจ็บไข้ให้แก่บุตรที่ไม่สบาย และย่อม
มีความชื่นชมในความงามเป็นหนุ่มเป็นสาวของบุตรที่เจริญ
เติบโตขึ้นแล้ว แต่มารดาย่อมไม่มีความกังวลห่วงใยคอยแนะนำ
พร่ำสอนแก่บุตรที่ประกอบการเลี้ยงชีพตนเองได้แล้ว ข้อนี้ฉันใด
การใฝ่ใจของสัตว์ทั้งหลาย ที่มีต่อกันนั้น ก็ไม่พ้นออกไปจาก
๔ อย่างนี้ ฉะนั้น อัปปมัญญา จึงมี ๔
ในอัปปมัญญา ๔ อย่างนี้ การเจริญเมตตามีประโยชน์กว้างขวาง
อย่างมหาศาล ทั้งเป็นกำลังช่วยอุดหนุนให้กรุณา มุทิตา อุเบกขา
เกิดขึ้นง่าย และยังช่วยทำให้การสร้างบารมีต่างๆ สำเร็จลงได้
อย่างสะดวกสบาย เหตุนั้นผู้ที่ปรารถนาสัมมาสัมโพธิญาณทั้งหลาย
(ผู้ที่ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า) จึงมีการเจริญเมตตาและการเจริญ
พุทธคุณประกอบไปด้วย โดยมาคำนึงนึกถึงว่าตนจะต้องทำการ
สร้างสมบารมี ๓๐ ทัศ เป็นเวลาอย่างช้านานอยู่ในวัฏฏสงสาร
คัดลอก-ตัดตอน-เรียบเรียงมาบางส่วนจาก
ปรมัตถโชติกะ ปริจเฉทที่ ๙ เล่ม ๑ สมถกรรมฐานทีปนีรจนาโดย
พระสัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ
หน้า ๑๗๘ - ๒๐๖