นิโรธ
นิโรธ (อ่านว่า นิโรด) แปลว่า ความดับ (ทุกข์) คือความสำรอกออก, สลัดทิ้ง, ปลดปล่อย,
ไม่มีเยื่อใยสมุทัยอันเป็นบ่อเกิดทุกข์ได้สิ้นเชิง หมายถึง การทำลายสมุทัยและดับสมุทัยคือตัวตัณหาให้สิ้นไปจนไม่เกิดขึ้นได้อีกเหมือนไฟที่สิ้นเชื้อ ด้วยอำนาจการดำเนินตามมรรคจนได้บรรลุมรรคนั้นๆ
นิโรธ จัดเป็นอริยสัจอันดับที่ ๓ ในอริยสัจ ๔ คือ
ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
นิโรธ โดยภาวะคือนิพพานนั่นเอง
นิโรธ ๕
หมายถึง ความดับกิเลส ภาวะไร้กิเลสและไม่มีทุกข์เกิดขึ้นนิโรธเป็นธรรมะที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้นิโรธ มี ๕ ประการ โดยมีชื่อเรียกอย่างอื่นอีก เช่น
• ปหาน ๕ (การละกิเลส ๕ ประการ)
• วิมุตติ ๕ (ความหลุดพ้น ๕ ประการ)
• วิเวก ๕ (ความสงัด ความปลีกออก ๕ ประการ)
• วิราคะ ๕ (ความคลายกำหนัด ความสำรอกได้ ๕ ประการ)
• โวสสัคคะ ๕ (ความสละ ความปล่อย ๕ ประการ)
นิโรธ ๕ ได้แก่
๑. วิกขัมภนนิโรธ
ดับด้วยข่มไว้ คือ
การดับกิเลสของท่านผู้บำเพ็ญฌาน ถึงปฐมฌานขึ้นไป ย่อมข่มนิวรณ์ไว้ได้ ตลอดเวลาที่อยู่ในฌานนั้น
๒. ตทังคนิโรธ
ดับด้วยองค์นั้นๆ คือ
ดับกิเลสด้วยธรรมที่เป็นคู่ปรับ หรือธรรมที่ตรงข้าม เช่น ดับสักกายทิฏฐิด้วยความรู้ที่กำหนดแยกรูปนามออกได้ เป็นการดับชั่วคราวในกรณีนั้นๆ
๓. สมุจเฉทนิโรธ
ดับด้วยตัดขาด คือ
ดับกิเลสเสร็จสิ้นเด็ดขาด ด้วยโลกุตตรมรรค ในขณะแห่งมรรคนั้น ชื่อ สมุจเฉทนิโรธ
๔. ปฏิปัสสัทธินิโรธ
ดับด้วยสงบระงับ คือ
อาศัยโลกุตตรมรรค ดับกิเลสเด็ดขาดไปแล้ว บรรลุโลกุตตรผล กิเลสเป็นอันสงบระงับไปหมดแล้ว ไม่ต้องขวนขวายเพื่อดับอีก ในขณะแห่งผลนั้น ชื่อ ปฏิปัสสัทธินิโรธ
๕. นิสสรณนิโรธ
ดับด้วยสลัดออกได้ หรือดับด้วยปลอดโปร่งไป คือ
ดับกิเลสเสร็จสิ้นแล้ว ดำรงอยู่ในภาวะที่ดับกิเลสแล้วนั้น ยั่งยืนตลอดไป ภาวะนั้นชื่อนิสสรณนิโรธ ได้แก่อมตธาตุ คือ นิพพาน
• พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). "พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์".