สวรรค์
สวรรค์ในพระพุทธศาสนา
สวรรค์ในความเชื่อทางพระพุทธศาสนา แปลว่า ภูมิหรือดินแดนที่มีอารมณ์เลิศด้วยดี จำแนกออกได้เป็น 6 ชั้น คือ จาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี และปรนิมมิตวสวัตดี
สวรรค์ คือ ภูมิอันเป็นที่อยู่ของเทวดา เป็นโลกที่อยู่อาศัยของกายละเอียดอันเป็นทิพย์ ที่มีรัศมีสว่างไสวรอบกายตลอดเวลา เหตุที่ทำให้มาเกิดเป็นเทวดาเพราะได้ สร้างบุญกุศลไว้เมื่อครั้งยังเป็นมนุษย์ เมื่ออุบัติขึ้นก็ตั้งอยู่ในวัยหนุ่มสาวทันที งดงามตลอดเวลา จนกว่าจะถึงเวลาจุติ ไม่มีความแก่บังเกิดขึ้นเหมือนในเมืองมนุษย์ วิมานปราสาทคือที่อยู่อาศัยของเทวดา ล้วนมีความวิจิตรงดงาม มีขนาดแตกต่างกัน มี ความเป็นอยู่สะดวกสบาย มีอาหารทิพย์บังเกิด ขึ้น มีบริวารคอยรับใช้ใกล้ชิด เสื้อผ้าเป็นทิพย์ วิจิตรงดงาม บังเกิดขึ้นให้สวมใส่ กิจกรรมแต่ละวันก็มีการเที่ยวเพลิดเพลินบันเทิงอยู่กับการชมสวน การสังสรรค์กันระหว่างทวยเทพทั้งหลาย ส่วนจะอุบัติขึ้น ณ สวรรค์ชั้นไหน เป็น เทวดาประเภทใด และอยู่ในฐานะอะไรนั้น ก็ ขึ้นอยู่กับบุญที่ตัวเองสั่งสมมาเมื่อครั้งยังเป็นมนุษย์ ซึ่งได้มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 37 เรื่อง ทานสูตร สรุปย่อได้ดังนี้
จาตุมหาราชิกา
มีหลายสาเหตุ คือ เมื่อครั้งเป็นมนุษย์ทำบุญไม่ค่อยเป็น ไม่รู้หลักการทำบุญ และไม่ค่อยได้สั่งสม บุญ
นานๆ ทำครั้งหนึ่ง เมื่อทำก็ทำน้อย หรือ ทำบุญเอาคุณ บุญที่ได้ก็ไม่บริสุทธิ์ ไม่สมบูรณ์ บาปในตัวก็มีอยู่ แต่ว่าบุญมากกว่า เมื่อละโลกใจนึกถึงบุญก่อนก็ไปสวรรค์ชั้นนี้ ซึ่งตั้งอยู่ ณ เชิงเขาสิเนรุ สวรรค์ชั้นนี้จะมีความหลากหลายมากที่สุด เพราะอยู่ใกล้ชิดกับพื้นมนุษย์มากกว่าสวรรค์ชั้นอื่นๆ และมีบางส่วนที่มีที่อยู่ซ้อนกับภูมิมนุษย์ ที่ได้ชื่อสวรรค์ชั้นจตุมหาราชิกา เพราะมีเทพผู้เป็นใหญ่ครองสวรรค์ชั้นนี้อยู่ 4 ท่าน คือ ท้าวธตรฐ ปกครองเทวดา 3 พวก ได้แก่ คนธรรพ์ วิทยาธร(พิทยาธร) กุมภัณฑ์ ท้าววิรุฬหก ปกครองพวกครุฑ ท้าววิรูปักษ์ ปกครองพวกนาค ท้าวเวสสุวรรณ ปกครองพวกยักษ์
ดาวดึงส์
คือเมื่อครั้งเป็นมนุษย์ ทำบุญเพราะเห็นว่าเป็นสิ่งดีงาม เป็นสิ่งที่ควรทำ
กระทำแล้วก็สั่งสมบุญ สั่งสมเทวธรรม มีหิริ โอตตัปปะด้วย เมื่อละโลกก็จะไปบังเกิดบนสวรรค์ชั้นนี้ ซึ่งตั้งอยู่ที่หน้าตัดของเขาพระสิเนรุ ที่ชื่อว่า ดาวดึงส์ เพราะเป็นที่อยู่ของเทพผู้ปกครองภพถึง 33 องค์ โดยมี สมเด็จอมรินทราธิราช หรือพระอินทร์ เป็นประธาน และที่สำคัญมีพระธาตุจุฬามณี ซึ่งทุกวันพระเทวดาจะมาประชุมกันที่สุธรรมาเทวสภา เพื่อรับฟังโอวาทจากท้าวสักกะ
ยามา
คือ เมื่อครั้งเป็นมนุษย์ ทำบุญเพราะอยากจะสืบทอดและรักษาประเพณีแห่งความดีงามนั้นไว้
ทำนองว่าวงศ์ตระกูลสร้างสมความดีมาอย่างไร ก็อยากจะรักษาประเพณีไว้ หรือผู้หลักผู้ใหญ่สอนอย่างไร บรรพบุรุษทำมาอย่างไรก็ทำอย่างนั้น ทำกันไปตามธรรมเนียม เช่น เห็น ปู่ย่าสร้างโบสถ์ บำรุงวัด สร้างพระประธาน ก็ทำตามนั้นด้วย หรือพระภิกษุที่รักษาพระพุทธศาสนาเอาไว้ ตามธรรมเนียมปฏิบัติ ที่พระต้องมีหน้าที่รักษาพระพุทธศาสนา เมื่อละโลกแล้ว ส่วนใหญ่จะไปบังเกิดบนสวรรค์ชั้นนี้ ซึ่งตั้งอยู่สูงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ขึ้นไป
ดุสิต
คือ เมื่อครั้งยังเป็นมนุษย์ ทำบุญเพื่อปรารถนาสงเคราะห์โลก ปรารถนาให้ชาวโลกมีความสุข
มีความคิดที่ยิ่งใหญ่ ไม่ใช่เพื่อตนเองอย่างเดียว แต่เพื่อสงเคราะห์โลก เพื่อนมนุษย์ และสรรพ-สัตว์ทั้งหลายด้วย เมื่อละโลกแล้วก็จะไปสวรรค์ ชั้นนี้ ซึ่งตั้งอยู่สูงถัดจากสวรรค์ชั้นยามาขึ้นไป
นิมมานรดี
คือ เมื่อครั้งเป็นมนุษย์ ให้ทานโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน
ไม่มีจิตใจผูกพันในผลแห่งทานแล้วให้ทาน ไม่มุ่งการสั่งสมให้ทาน ให้ทานเพราะมีความสุขในการให้ ให้ทานด้วยคิดว่า "เราจักเป็นผู้จำแนกแจกทาน เช่นเดียวกับท่านฤาษี ทั้งหลายคือ ท่านอัฏฐกฤาษี ท่าวามกฤาษี ท่านวาม เทวฤาษี ท่านเวสสามิตรฤาษี ท่านยมทัคคฤาษี ท่านอังคีรสฤาษี ท่านภารทวาชฤาษี ท่านวาเสฏฐฤาษี ท่านกัสสปฤาษี ท่านภคุฤาษี" เขาผู้นั้น ให้ทานด้วยอาการอย่างนี้แล้ว เมื่อทำ กาลกิริยาตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงความเป็นสหาย แห่งเทวดาทั้งหลาย ในสวรรค์ชั้นนิมมานรดี
ปรนิมมิตวสวัตดี
คือ เมื่อครั้งเป็นมนุษย์ ทำบุญด้วยความเลื่อมใส เคารพในทาน
ทำแล้วมีความรู้สึกปลื้มใจ ในบุญที่ทำนั้น เมื่อละโลกแล้วจะบังเกิดบนสวรรค์ชั้นนี้ ซึ่งตั้งอยู่สูงจากสวรรค์ชั้นนิมมานรดีขึ้นไป
การสิ้นชีวิตของเทพยดา มี ๔ อย่าง
๑. อายุขัย ได้แก่ สิ้นชีวิตตามอายุในชั้นฟ้านั้น
๒. บุญญขัย สิ้นบุญก่อนถึงกำหนดอายุขัยในชั้นฟ้านั้น
๓. อาหารขัย สิ้นชีวิตเพราะสนุกจนลืมกินอาหาร
๔. โกธาพละ สิ้นชีวิตเพราะความโกรธ ซึ่งหัวใจจะกลายเป็นไฟไหม้ตนเอง
ก่อนเทพยดาจะจุติ (สิ้นชีวิต) จะมีนิมิต ๕ ประการ คือ
๑. เห็นดอกไม้ในวิมานของตนและไม่หอม
๒. ผ้าทรงดูหม่นหมอง
๓. อยู่ไม่มีความสุข มีเหงื่อไคลไหลจากรักแร้
๔. อาสนะร้อนและแข็งกระด้าง
๕. กายของเทพยดานั้นเ...เหี่ยวแห้ง เศร้าหมอง ไม่มีรัศมี
เรื่องสวรรค์เป็นเรื่องของความเชื่อซึ่งคนโบราณมุ่งจะปลูกฝังสั่งสอนให้คนประพฤติดี ประพฤติชอบไม่กระทำบาปคือ ละความโลภ ความโกรธ ความหลง เพื่อให้ได้เป็นเทวดาเสวยสุขสมบัติ.
อ้างอิง
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มก. อุโปสถสูตร เล่ม 34 หน้า 382